เปิดตัว “หมึกไฟฟ้า” ผลงานไทยยกระดับสื่อสิ่งพิมพ์
 
ปกนิตยสารที่ซ่อนวงจรจากหมึกไฟฟ้าไว้หลังปกเพื่อให้ดวงตานางแบบส่องแสงประกาย
 
เปิดตัว “หมึกไฟฟ้า” ผลงานนักวิจัยไทยหวังยกระดับสื่อสิ่งพิมพ์ เพิ่มลูกเล่นนิตยสาร บรรจุภัณฑ์ ด้วยหมึกนวัตกรรมแรกของโลกที่ผสมกราฟีนและปราศจากออกซิเจน ช่วยให้หมึกนำไฟฟ้าได้ดี พิมพ์ออกมาเป็นวงจรบนวัสดุได้หลากหลายและยังผลิตจากวัสดุอินทรีย์ไม่ทำร้ายโลก เบื้องต้นได้บริษัทเอกชนไทยรับต่อยอดผลิตหมึกจำหน่าย แต่ยังต้องการภาคเอกชนร่วมวิจัยการพิมพ์สู่วัสดุอื่นๆ
       
       ระหว่างเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (Thailand Organic @ Printed Electronics Innovation Center) หรือ TOPIC เมื่อวันที่ 27 มี.ค.55 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นั้น ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดตัว “หมึกไฟฟ้า” ผลงานวิจัยจากนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งมีตัวอย่างการพิมพ์หมึกเพื่อสร้างวงจรไฟฟ้าสร้างแสงสีตกแต่งหน้าปกวารสารต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์สินค้าต่างๆ
       
       ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยจากเนคเทคและ TOPIC กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนว่า ใช้เวลาในการพัฒนาหมึกไฟฟ้านี้ประมาณ 2 ปี โดยหมึกที่พัฒนาขึ้นนี้มีส่วนผสมของกราฟีนซึ่งเป็นรายที่ 2 ที่พัฒนาหมึกไฟฟ้าด้วยการผสมกราฟีนอันเป็นวัสดุคาร์บอนรูปหนึ่ง และยังเป็นรายแรกของโลกที่หมึกผสมกราฟีนนี้ปราศจากออกซิเจน ช่วยให้หมึกนำไฟฟ้าดี
       
       ในส่วนของการใช้งานนั้นสามารถพิมพ์หมึกลงวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ พลาสติก เนื้อผ้า เป็นต้น เพื่อสร้างวงจรไฟฟ้า และหมึกไฟฟ้านี้ยังนำไปพิมพ์เป็นแบตเตอรีเพื่อให้พลังงานแก่วงจรไฟฟ้าต่างๆ ได้ ด้วยการพิมพ์ให้เกิดขั้วไฟฟ้า และเติมสารอิเล็ทรอไลต์ลงไป ในเบื้องต้นทางเนคเทคประสบความสำเร็จในการผลิตหมึกไฟฟ้าและได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ บริษัท อินโนฟีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแห่งใหม่ของไทยเพื่อผลิตออกจากจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
       
       นอกจากนี้ทางเนคเทคเพิ่งได้รับการตอบรับเข้าเป็นสมาชิกสมาคมอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (Organic Electronics Association: OE-A) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เยอรมนี โดยนับเป็นชาติที่ 4 ในเอเชียที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมดังกล่าวที่ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 188 หน่วยงาน ซึ่งจะช่วยให้การวิจัยและพัฒนาก้าวหน้าเร็วขึ้น
       
       ในส่วนการพิมพ์ด้วยหมึกไฟฟ้านั้น ดร.อดิสรกล่าวว่า ยังต้องมีการวิจัยพัฒนาเพิ่มเติม เพราะวัสดุแต่ละประเภทนั้นต้องการหมึกพิมพ์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งตอนนี้บริษัทเอกชนใหญ่ๆ หลายแห่งได้พัฒนาหมึกไฟฟ้านี้เพื่อผลิตเป็นจอแสดงผล แต่สำหรับไทยแล้วยังเห็นโอกาสในเรื่องการผลิตสิ่งพิมพ์ เมื่อพัฒนาไปถึงระดับหนึ่งแล้วจึงจะก้าวสู่การพัฒนาจอแสดงผล อย่างไรก็ดี ยังต้องการภาคเอกชน หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ มาร่วมวิจัยเพื่อนำหมึกไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ TOPIC เพื่อร่วมวิจัยทางด้านการพิมพ์อยู่ประมาณ 20 หน่วยงานแล้ว

 

 

51/7 หมู่ 6 ซ.คลองมะเดื่อ17 ถ.เศรษฐกิจ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร 74110    

โทร : 034-447-878-80 แฟกซ์ : 034-447-881-2 มือถือ : 083-095-5517    

เลขประจำตัวผู้เสียภาษี : 0745556000135